จีโฟกาย.คอม

 ลืมรหัสผ่าน
 สมัครเข้าเรียน
ค้นหา
 
ดู: 1695|ตอบกลับ: 10
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป
ซ่อนแถบด้านข้าง

โบราณราชประเพณีในงานพระราชพิธี พระบรมศพ และ พระศพ

[คัดลอกลิงก์]

นายกองค์การนักศึกษา

โพสต์
7603
พลังน้ำใจ
40888
Zenny
206853
ออนไลน์
36627 ชั่วโมง

สมาชิกจีโฟกาย 100%สมาชิกระดับแพลตตินั่มสมาชิกระดับทับทิมสมาชิกระดับไพลินสมาชิกระดับมรกตสมาชิกระดับเพชรสมาชิกระดับเพชรบริหารสมาชิกระดับเพชรคู่สมาชิกระดับตรีเพชรสมาชิกระดับมงกุฎ

       โบราณราชประเพณีในงานพระราชพิธี พระบรมศพ และ พระศพ

      สำหรับคำว่า “ ตาย ”  หม่อมหลวงปิ่นมาลากุล ได้อธิบายตามฐานันดรศักดิ์ ไว้ดังนี้

- สวรรคต ใช้กับ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี หรือสมเด็จพระบรมวงศ์ที่ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ เทียบเท่า และสมเด็จพระบรมโอสราธิราชสมยามมกุฎราชกุมาร

- ทิวงคต ใช้กับ สมเด็จพระอนุชาธิราช หรือสมเด็จพระบรมวงศ์ที่ทรงยกย่องโปรดเกล้าฯ

- สิ้นพระชนม์ ใช้กับ พระบรมวงศ์ และพระราชวงศ์ถึงชั้นพระองค์เจ้า พระวรราชเทวี สมเด็จพระสังฆราช

- ถึงชีพิตักษัย ใช้กับ หม่อมเจ้า

- พิราลัย ใช้กับ เจ้าประเทศราช สมเด็จเจ้าพระยา เจ้าคุณราชินิกุล (ราชสกุลฝ่ายพระราชินี)

- ถึงแก่อสัญกรรม ใช้กับ เจ้าพระยา หรือเทียบเท่า ซึ่ง ในปัจจุบัน คือผู้ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า

- ถึงแก่อนิจกรรม ใช้กับ พระยาหรือเทียบเท่า

- มรณภาพ ใช้กับ พระภิกษุสามเณร เว้น แต่พระภิกษุสามเณรที่เป็นพระราชวงศ์ใช้ตามฐานันดรศักดิ์

- ถึงแก่กรรม ใช้กับบุคคลทั่วไป

- ล้ม ใช้กับ สัตว์ใหญ่

- ตาย ใช้กับสัตว์เล็ก
    ศพบรรดาศักดิ์หรือเจ้านายชั้นสูง ก็ไม่ต่างอะไรกับศพไพร่ฟ้าสามัญชนทั่วไป แต่ทว่ามีการเก็บรักษาที่พิเศษ เพื่อคงสภาพของ " กาย " นั้นไว้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในสมัยโบราณเมื่อมีเจ้านายสิ้นพระชนม์นั้นก็จะมีพิธีที่เรียกกันว่า เลี้ยงพระศพ นั้นก็คือการกรอกสารเคมี เช่นปรอท หรือ น้ำผึ้ง ซึ่งเป็นวิธีโบราณ  ดังจะเห็นปรากฎในฉากจาก ภาพยนต์เรื่อง สุริโยทัย แต่ด้วยประเทศไทยนี้เป็นเมืองร้อนและชื้น การกรอกสารเคมีอย่างเดียวนั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ทำให้เศษอาหารที่อยู่ในพระศพนั้นเกิดปฏิกิริยากับแบคทีเรียที่อยู่ภายใน ก็จะเน่าอยู่ข้างในพระศพแล้วก็จะมีน้ำเลือด น้ำหนองของเสียต่างๆ ไหลซึมออกมา เจ้าพนักงานที่ทำพระศพก็ต้องทำการห่อพระศพทับกันหลายชั้น
การรับพระราชทานน้ำหลวงอาบพระศพ
    ด้วยโบราณราชเพณีการรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพนั้นเมื่อพระศพนั้นมีฐานันดรศักดิ์ที่น้อยกว่าจึงต้องให้พระศพ หรือ ศพอยู่ในท่านั่ง ดังนั้นเจ้าพนักงานภูษามาลาจะต้องพยุงพระศพ หรือ ศพขึ้นเพื่อรับพระราชทานน้ำหลวงให้อยู่ในท่าประทับนั่ง ดังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ดังนี้
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ตรัสเล่าถึงอาการสำรอกของพระศพพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่พระองค์หนึ่ง (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์  ) ไว้ว่า วันที่เสด็จไปพระราชทานน้ำหลวงอาบพระศพนั้น เจ้าพนักงานภูษามาลาต้องพยุงพระศพขึ้นเพื่อรับพระราชทานน้ำหลวง แต่ปรากฏว่าเมื่อดันพระศพให้อยู่ในท่าประทับนั่งนั้น " พระศพก็ทรงสำรอก "  (สำนวนในพระราชนิพนธ์) อาเจียน สิ่งต่างๆที่อยู่ในอวัยวะภายในของพระบรมวงศ์พระองค์นั้นออกมาจนเกือบหมด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรดไปที่พระหัตถ์แทน เพื่อรักษาเกียรติยศของผู้วายชนม์และวงศ์ตระกูล ต่อมาจึงไม่โปรดให้เจ้าพนักงานต้องพยุงพระศพ หรือศพขึ้นรับพระราชทานน้ำหลวง เป็นแต่เพียงรดน้ำลงพระศพหรือศพที่อยู่ในท่านอนราบแทน แต่ก็ยังคงให้เจ้าพนักงานประจำอยู่ที่เดิม

   ในปัจจุบันการพยุงศพขึ้นรับน้ำหลวงนั้นก็ยังมีการทำอยู่บ้างแต่ ส่วนมากเจ้าพนักงานจะเป็นคนจับแขนทั้งสองของศพพอเป็นกิริยาว่าลุกขึ้นรับน้ำหลวงอาบศพ หรือเจ้าหน้าที่บางรายก็เอามือสอดไปใต้ฟูก ลองศพแล้วพยุงขึ้นเล็กน้อย เวลารับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ให้พอเป็นพิธี
    โกศ มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า เครื่องหุ้มหรือครอบ พระบรมโกษ พระโกศ คือที่ใส่พระบรมศพ และพระศพเจ้านาย ของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ กับโกศที่พระราชทานสำหรับศพข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์สูง ตามคตินิยมของพราหมณ์ที่เชื่อว่า ต้องตั้งพระศพในท่ายืน, นั่ง, คุกเข่า หรือกอดเข่าประสานมือ เพื่อส่งพระศพและพระวิญญาณเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์
พระบรมโกศ หมายถึง ที่ใส่พระบรมศพของพระมหากษัตริย์ พระราชินี
พระโกศ หมายถึง ที่ใส่พระศพ พระบรมวงศ์ ราชวงศ์
โกศ นั้นจะหมายถึงที่บรรจุศพคนสามัญทั่วไป
พระบรมโกศ พระโกศ โกศ  มีอยู่ด้วยกัน 2 ชั้น คือ ชั้นนอก และชั้นใน

- ชั้นนอก เรียกว่า “ลอง” ทำด้วยโครงไม้หุ้มทอง ปิดทองประดับกระจกอัญมณี  ใช้สำหรับประกอบปิด “โกศชั้นใน” มีหลายลำดับตามฐานานุศักดิ์

- ชั้นใน เรียกว่า “โกศ” ทำด้วยเหล็กหรือทองแดงหรือเงินปิดทอง
พระลองใน
    โกศลองใน หรือ พระลอง เป็นภาชนะตัวจริงที่บรรจุร่างของพระบรมศพ พระศพ ประกอบด้วยตัวถัง เป็นโลหะแผ่นที่ถูกม้วนเป็นทรงกระบอกเชื่อมตะเข็บ ทาสี ปิดทองหรือหุ้มทอง เส้นผ่าศูนย์กลางปากบนประมาณ 65 เซนติเมตร ความสูงประมาณ 95 เซนติเมตร ด้านล่างเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 46 เซนติเมตร มีตะแกรงเหล็กเชื่อมไว้รับน้ำหนักพระบรมศพ พระศพ ตะแกรงนี้มีไว้ในการเผาศพ ส่วนฐานที่ตั้ง เป็นไม้ ด้านบนเว้าลงเป็นรูปกระทะหงาย หรือมีแผ่นดีบุกรูปใบบัววางไว้รองรับของเหลวที่อาจเกิดขึ้นตามขบวนการย่อยสลาย ( น้ำเหลือง )ในสมัยโบราณ ตรงกลางส่วนเว้าที่ลึกที่สุดเป็นรูระบายพระบุพโพ  ( น้ำเหลือง )นี้ ซี่งมีท่อต่อลงสู่ภาชนะที่เรียกว่า “ถ้ำ” เบื้องล่าง ด้านบนเป็นฝา เมื่อปิดครอบลงแล้วจะยึดทุกส่วนที่ประกอบกันให้มั่นคงด้วยเชือก อุดรอยต่อด้วยขี้ผึ้ง กันกลิ่นอันไม่พึงประสงค์จะรั่วซึมออกมา
ดังปรากฎความในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ดังนี้
     เจ้าพนักงานกรมพระภูษามาลา ถวายเครื่องทรงอย่างบรมขัตติยาธิราช ใช้ภูษา ( ผ้านุ่ง )สองผืน ผืนแรกใช้อย่างปกติ ผืนที่สองกลับผ้าจากด้านหลังมาเป็นหน้า ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นผ้าไหม ชั้นนอกเป็นฉลองพระองค์ยาวปักดิ้นทองคลุมทับ ทรงสร้อยสังวาลย์ประดับเพชรคาดระหว่างพระอุระ ( อก ) พระเพลา ( ขา )อยู่ในท่าประทับนั่ง แนบอยู่กับพระนาภี ( ท้อง ) พระชานุ ( เข่า )เกย อยู่ทีพระหนุ ( คาง ) พระบาท ( เท้า )พันธนาการไว้กับเสาไม้ พระกร ( ปลายแขน ตั้งแต่ข้อศอกถึงข้อมือ) โอบรอบพระเพลาผูกไว้กับพระภูษาลินินและเส้นด้ายพิเศษ ทรงฉลองพระหัตถ์ซองพระศรีทองคำลงยาบรรจุดอกบัวตูม 1 ธูปไม้ระกำ 1 เทียนเล็ก 1 เพื่อเป็นเครื่องสักการะพระจุฬามณี  และพระบาทโยลีตาดสีทอง ทรงสวมพระมาลาไหม พระธำมรงค์ ( แหวน )ทองคำวางไว้ในพระโอษฐ์ ( ปาก ) ทรงฉลองพระพักตร์ทองคำ ( หน้ากาก ) และสิ่งสุดท้ายคือมงกุฏทองคำ (พระชฎา)บนพระเศียร แล้วก็สู่ขั้นตอนอัญเชิญไว้ในพระลองเงิน และพระบรมโกศทองใหญ่ตามลำดับ จากนั้นเจ้าพนักงานภูษาปูผ้าขาว 3 ผืน ปูซ้อนเป็นรูปหกแฉก เชิญพระบรมศพประทับบนผ้าขาว แล้วรวบชายประชุมไว้เหนือพระเศียร ถวายสุกำ ( ตราสัง )ด้วยด้ายดิบ ปล่อยชายไว้สำหรับสอดออกไปต่อกับพระภูษาโยง เจ้าพนักงานอัญเชิญพระบรมศพลงสู่พระโกศลองในโลหะเหล็กหล่อปิดทอง วางพระเขนย ( หมอน )จีบหนุนรอบพระองค์กันเอียง ก่อนปิดฝาพระโกศพระบรมศพ เจ้าพนักงานภูษามาลาจะเชิญ ทรงฉลองพระพักตร์ทองคำ และ พระชฎาออกมาห่อผ้าขาวเก็บไว้ เพื่อหลอมเป็นพระพุทธรูปต่อไป เจ้าพนักงานปิดฝาพระโกศลองในแล้วถวายคลุมตาดทอง พร้อมที่จะเชิญไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อประดิษฐานพระบรมศพ พระศพ เรียบร้อยแล้วยังมีอีกขั้นตอนหนึ่งคือ เจ้าพนักงานพระภูษามาลา ต้องเตรียมกระโถนรองบุพโพหรือเรียกว่าอีกอย่างว่า "ถ้ำบุพโพ" หรือถ้ำพระบุพโพครับ มีคำนิยามว่าตุ่มดินเผาสำหรับรับน้ำเหลือง จากพระบรมศพ และพระศพ ส่วนฐานโกศลองในจะมีช่องสำหรับใช้ต่อท่อให้พระบุพโพ ลงไปยังถ้ำบุพโพที่อยู่ด้านล่าง
พระชฎาและแผ่นทองคำปิดพระพักตร์ที่ถวายพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
ท่อพระบุพโพ
    มีเรื่องเล่ากันว่าในคราวงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เรื่องบุพโพนั้นเป็นเรื่องหนักใจของงานพระบรมศพมาก เพราะมักส่งกลิ่นรบกวน ต้องสุมเครื่องหอมดับกลิ่นกันอยู่เสมอ ว่ากันว่า กลัวกลิ่นถึงขนาดเจาะพื้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อประดิษฐานถ้ำบุพโพไว้ลึกๆ แล้วยังท่อไม่ไผ่ทะลุปล้องลงไปถึงถ้ำบุพโพที่วางอยู่ในพื้นที่ถูกเจาะลงไปนั้น เพื่อจะได้ไม่ส่งกลิ่นรบกวน เจ้าพนักงานภูษามาลาที่เฝ้าพระบรมศพ พระศพ ต้องค่อยดูว่าพระบุพโพเต็มในถ้ำบุพโพหรือไม่ เพื่อจะได้นำไปทำตามโบราณราชประเพณีต่อไป
    การถวายพระเพลิงพระบุพโพนั้น แต่ก่อนในสมัยโบราณจะเชิญพระบุพโพมาเคี่ยวในกระทะพร้อมๆ กับเครื่องหอมต่างๆ เช่น ชะลูด จนแห้ง แล้วถึงจะเชิญไปถวายพระเพลิงที่พระเมรุวัดมหาธาตุฯ ( พระเมรุชั่วคราว ) เรื่อง พระบุพโพ ของพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ทรงไม่กล้าเคี่ยว เพราะเดี๋ยวฝรั่งต่างชาติจะว่าได้ว่าคนไทยสกปรก และเหม็นคลุ้งไปทั่วเมือง พระองค์จึงมีพระราชดำริให้นำพระบุพโพ ที่เหลวๆนั่น ใส่ลองเหล็กวิลาศ (เหล็กกล้า) ฝังใต้พระพุทธชินราชจำลอง ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิธ  แต่เมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี นั้น ได้เชิญพระบุพโพไปถวายพระเพลิงในเตาเผาแบบสมัยใหม่ที่เมรุหลวง หน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
พระเมรุ ถวายพระเพลิงพระบุพโพ ที่วัดมหาธาตุ
การถวายพระเพลิงพระบุพโพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
การถวายรูด
     ในสมัยก่อนการที่จะมีงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระศพ นั้นต้องทำในหน้าแล้งแต่การสิ้นพระชนม์ของพระบรมวงศานุวงศ์นั้นหาได้สามารถเลือกเวลาได้ดังนั้นเมื่อมีเจ้านายเสด็จสิ้นพระชนม์การที่จะรอสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ นั้นก็ต้องรอเวลา ฤดูกาลเป็นธรรมดาแต่ยิ่งเนิ่นนานวันพระบรมศพ พระศพนั้นเนื้อหนังมังสา ข้อเอ็น เส้นสายต่างๆ ก็ทยอยกันผุเปื่อย เพราะว่าในสมัยก่อนไม่มีการฉีดฟอร์มาลินบางพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ในฤดูฝนก็ต้องเก็บศพไว้นานหน่อย รอจนกว่าจะถึงฤดูแล้งแล้วจึงจะทำการถวายพระเพลิง พระราชทานพระศพ เพราะโบราณมานั้นมักเผาศพกันกลางแจ้ง ไม่มีเมรุศพอย่างในสมัยนี้ ถ้ามีฝนก็เป็นอันว่าเผากันไม่ได้ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาจะนำศพออกมาทำพิธีฌาปนกิจจึงต้องเปลื้องเอาผ้าห่อศพนั้นออก แล้วเอาศพนั้นไปสำรอกเอาเนื้อหนังมังสาเส้นสายต่างๆออกให้หมดโดยการนำลงต้มในกระทะใบบัว มักใส่สมุนไพรดับกลิ่นลงไปด้วย เช่น ชะลูด ซึ่งมักใช้เวลาต้มผ้า อบผ้าให้หอม จากนั้นจะ "รูด" เอาเนื้อหนังมังสานั้นออกจนเหลือแต่กระดูกขาวๆ เชิญออกมาไว้ต่างหาก สิ่งที่อยู่ในกระทะใบบัวนั้นก็จะทิ้งไม่ได้ ต้องเคี่ยวจนแห้ง แล้วนำไปเผาพร้อมกับผ้าบังสุกุล(ห่อศพ)ที่แก้ออกไว้แล้วในสถานที่ที่จัดไว้ต่างหาก เรียกว่า " ถวายพระเพลิงพระบุพโพ " ถ้าเป็นพระศพเจ้านายชั้นสูงจะเชิญไปถวายพระเพลิงที่บริเวณวัดมหาธาตุในปัจจุบัน (หน้าสนามหลวง) ส่วนพระอัฐิที่สำรอกพระมังสา พระบุพโพแล้วก็ให้เชิญลงพระลองประกอบโกศ เตรียมการถวายพระเพลิงต่อไป
    การถวายรูดครั้งสุดท้ายมีปรากฎในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฎว่ามีการถวายรูดอีกเลยนับจากวันนั้นถึงปัจจุบันน เพราะมีการฉีดฟอร์มาลินแล้ว พระบรมศพก็แห้งติดไปกับพระบรมอัฐิ และการบรรจุพระบรมศพ พระศพ ในพระบรมโกศ พระโกศครั้งสุดท้ายมีในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี บรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ในปี พ.ศ.2527

    ฉะนั้น ธรรมเนียมการบรรจุพระศพลงพระโกศหรือบรรจุศพลงโกศนั้นก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่จะบรรจุลงหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับพระทายาทหรือทายาท เวลาไปกราบถวายบังคมลาสิ้นพระชนม์ ชีพิตักษัย ถึงแก่อสัญกรรม ฯลฯ นั้น เจ้าหน้าที่จะถามทุกครั้งว่าจะให้ศพลงโกศหรือลงหีบ หากแสดงความประสงค์จะให้บรรจุลงโกศ ทางเจ้าพนักงานก็สามารถจัดให้ได้ งานพระศพเจ้านายรวมถึงข้าราชการที่เคร่งธรรมเนียมบางพระองค์บางท่านในทุกวันนี้ก็ยังบรรจุศพลงโกศเหมือนแต่ก่อนครับ เช่น ในงานศพของหม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร
   พระโกศเป็นภาชนะเครื่องสูงมีรูปทรงเป็นกรวยมียอดแหลม อาจแยกตามวัตถุประสงค์การใช้งานเป็น 2 ประเภทคือ พระโกศสำหรับทรงพระบรมศพหรือพระศพ และ พระโกศพระบรมอัฐิหรือพระอัฐิ ซึ่งพระโกศพระบรมศพมี 2 ชั้น คือชั้นนอกเรียกว่า "ลอง" ทำด้วยโครงไม้หุ้มทองปิดทอง ประดับกระจกอัญมณี และ ชั้นใน เรียก "โกศ" ทำด้วยเหล็ก ทองแดงหรือเงิน ปิดทอง ลองชั้นนอกใช้ประกอบปิดโครงชั้นในสำหรับลอง หรือ พระลอง ที่ประดับอยู่ภายนอกของโกศ ต่อมานิยมเรียกพระลอง เป็นพระโกศแทน จนเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน เช่น เรียกพระลองทองใหญ่ ว่าพระโกศทองใหญ่ เป็นต้น

   พระบรมโกศ พระโกศและโกศแบ่งตามลำดับตามฐานันดรศักดิ์อย่างชัดเจน แต่โกศพระศพนี้อาจมีการเลื่อนลำดับชั้นได้ มีอยู่ 12 อย่าง ดังนี้
1. พระโกศทองใหญ่
2. พระโกศทองรองทรง นับเสมอด้วย พระโกศทองใหญ่
3. พระโกศทองเล็ก
4. พระโกศทองน้อย
5. พระโกศกุดั่นใหญ่ และ พระโกศกุดั่นน้อย
6. พระโกศมณฑปใหญ่ และ พระโกศมณฑปน้อย  
7. พระโกศไม้สิบสอง
8. พระโกศพระองค์เจ้า เดิมเรียกว่า โกศลังกา
9. โกศราชนิกุล
10. โกศเกราะ
11. โกศแปดเหลี่ยม
12. โกศโถ
พระโกศทองใหญ่
   1. พระโกศทองใหญ่  ใช้สำหรับทรงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระอัครมเหสี หรือเจ้าฟ้าชั้นสูงยิ่ง สร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๗๐ (พ.ศ. ๒๓๕๑)  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  โปรดให้รื้อทองที่หุ้มกระโกศกุดั่นมาทำพระโกศทองใหญ่ขึ้นไว้ สำหรับพระบรมศพของพระองค์  เมื่อทำพระโกศองค์นี้สำเร็จแล้ว  โปรดฯให้เข้าไปตั้งถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ  ในปีนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระอาลัยมาก  และใคร่จะทอดพระเนตรพระโกศทองใหญ่ออกพระเมรุตั้งพระเบญจา  จึงโปรดฯให้เชิญพระโกศทองใหญ่ไปประกอบพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก  จึงเลยเป็นประเพณีในรัชกาลต่อมา ที่พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพอื่นเป็นพิเศษนอกจากพระบรมศพ   
พระโกศทองรองทรง
  2. พระโกศทองรองทรง  พระโกศองค์นี้ ใช้ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาแต่งพระโกศทองใหญ่ และได้ใช้ทรงพระศพเจ้านายอีกหลายพระองค์ โปรดฯให้กรมหมื่นปราปรปักษ์สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีชวด  รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓)  พระโกศองค์นี้นับเหมือนพระโกศองค์ใหญ่  สำหรับใช้แทนที่พระโกศทองน้อย  เวลาที่จะต้องหุ้มทองคำ  เพื่อจะไม่ให้ต้องหุ้มเข้าและรื้อออกบ่อยๆ
                                                                        พระโกศทองเล็ก
  
  3. พระโกศทองเล็ก  สำหรับทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นครั้งแรก แล้วได้ใช้ทรงพระศพเจ้านายต่อมา โปรดฯให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐)  ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นครั้งแรก  และได้ใช้ทรงพระศพเจ้านายต่อมาอีกหลายพระองค์  
พระโกศทองน้อย
4. พระโกศทองน้อย  โปรดฯให้กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์สร้างขึ้นตามอย่างพระโกศทองใหญ่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ (พ.ศ. ๒๓๙๔)  สำหรับทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อผลัดพระโกศทองใหญ่ไปแต่ก่อนออกงานพระเมร  เมื่อทรงพระบรมศพ หรือตั้งงานพระศพคู่กับพระโกศทองใหญ่แล้วหุ้มทองคำ  ถ้าใช้งานอื่นไม่หุ้ม  กรมพระสมมติอมรพันธุ์ทรงจดคราวที่ได้หุ้มทองคำใช้นั้นไว้  และสร้างเมื่อในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้สร้างอีกองค์หนึ่ง ปัจจุบันใช้สำหรับทรงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
พระโกศกุดั่นใหญ่ - พระโกศกุดั่นน้อย
  5. พระโกศกุดั่นใหญ่ และ พระโกศกุดั่นน้อย พระโกศกุดั่นทั้ง 2 องค์สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปีมะแม จุลศักราช 1161 (พ.ศ. 2342) สำหรับทรงพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ เมื่อทรงพระศพสมเด็จพระพี่นางหุ้มทองคำทั้งสององค์ และมีการเล่าขานกันว่าพระโกศองค์หนึ่งชำรุดไป  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงค้นหาได้มา แต่ตัวพระโกศ จึงทรงทำฝา และฐานใหม่ประกอบเข้า เรียกพระโกศองค์นี้ว่า "กุดั่นใหญ่" ฝีมือทำซึ่ง ปรากฏอยู่ที่กาบพระโกศนั้นงามอย่างยิ่ง สมกับที่มีตำนานว่าเป็นของทำในรัชกาลที่ 1 อีกองค์หนึ่งเรียกว่า "กุดั่นน้อย" องค์นี้ที่ว่าไม่ชำรุดสูญหาย แต่ดูทำนองลายในกาบ ไม่ค่อยเทียมทันเสมอกันกับพระโกศกุดั่นใหญ่ อันมีตำนานว่าทำพร้อมกัน พระโกศทั้งสององค์นี้เกียรติยศใช้ต่างกัน ในทุกวันนี้ถือว่าพระโกศกุดั่นใหญ่เกียรติยศสูงกว่าพระโกศกุดั่นน้อย และสำหรับพระโกศกุดั่นใหญ่ในปัจจุบันไม่ปรากฏอยู่ในหลักเกณฑ์ในการพระราชทานพระโกศเกียรติยศว่าจะพระราชทานแก่ผู้ใด คงมีแต่พระโกศกุดั่นน้อย ที่พระราชทานสำหรับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และสมเด็จพระสังฆราช
พระโกศมณฑปใหญ่
  6. พระโกศมณฑปใหญ่  สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๒๒๕ (พ.ศ. ๒๔๐๖)  โปรดฯให้กรมขุนราชสีหวิกรมออกแบบ  โดยเอาแบบมาแต่พระโกศมณฑปน้อย  ใช้ทรงพระศพกรมพระพิทักษ์เทเวศร์  ด้วยที่ว่ากรมพระพิทักษ์เทเวศร์พระรูปใหญ่โต  พระศพลงลองพระโกศสามัญไม่ได้  ต้องทำลองสี่เหลี่ยมขึ้นโดยเฉพาะ  จึงโปรดฯให้สร้างพระโกศมณฑปนี้สำหรับประกอบลองสี่เหลี่ยม  พระโกษมณฑปใหญ่นี้ต่อมาสร้างขึ้นอีกองค์หนึ่ง  แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด ส่วนพระโกศมณฑปน้อย สร้างในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติสร้างขึ้นทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ถ้าทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระโกศนี้หุ้มทองคำเฉพาะงานเท่านั้น
พระโกศไม้สิบสอง
  7. พระโกศไม้สิบสอง มีตำนานว่าสร้างในรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2346) ทรงพระบรมศพ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ลองทองจากพระโกศกุดั่นที่หุ้มไว้แต่เดิม มาหุ้มพระโกศไม้สิบสองแทน นำออกใช้ใครแรกประดิษฐานพระโกศแปดไม้สิบสองในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในบัดนี้พระโกศไม้สิบสองมี ๒ องค์  ว่าเป็นของเก่าองค์หนึ่ง  เป็นของสร้างเติมขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง  แต่ไม่ได้ความว่าสร้างเติมขึ้นเมื่อไร  สังเกตดูรูปทรงลวดลายทั้งสององค์  ไม่เห็นสมเป็นฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ สักองค์เดียว ในปัจจุบันพระราชทานประกอบเกียรติยศ สมเด็จพระราชาคณะ และองคมนตรีที่ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง ฯลฯ
  8. พระโกศพระองค์เจ้า  เรียกกันแต่แรกว่าโกศลังกา  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้างขึ้น แต่ครั้งยังทรงผนวช  เป็นลองสี่เหลี่ยมหุ้มผ้าขาว  ยอดเป็นฉัตรระบายผ้าขวา  เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระศพพระเจ้าลุกเธอที่ยังทรงพระเยาว์อยู่(ก่อนมีพระโกศมณฑลน้อย)  ต่อมาโกศนี้ สำหรับทรงพระศพพระองค์เจ้าวังหน้า  และพระองค์เจ้าตั้ง  มาถึงรัชกาลที่ ๕ สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงทรงคิดทำประกอบนอกขึ้น  ต่อมากรมหมื่นปราบปรปักษ์ทำเติมขึ้นใหม่อีกพระโกศหนึ่ง  จึงมีอยู่ในเวลานี้ ๒ พระโกศด้วยกัน
โกศราชนิกุล
  9. โกศราชนิกุล หรือ ราชวงศ์   ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง 4 เหลี่ยม ฝายอดทรงชฎาพอกปิดทองล่องชาดประดับ กระจกสี โปรดฯให้กรมขุนราชสีหวิกรมสร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีขาล จุลศักราช ๑๒๒๘ (พ.ศ. ๒๔๐๖) พระราชทานให้ประกอบศพพระยามนตรีสุริยวงศ์(ชุ่ม  บุนนาค) และ สำหรับพระราชทาน ทรงพระศพ พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า ในปัจจุบันพระราชทานเพื่อประกอบพระเกียรติยศ สำหรับพระวรวงศ์เธอ และหม่อมเจ้า ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) หรือตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในปัจจุบันสำหรับพระราชทาน ข้าราชการผู้เป็นราชสกุล ราชนิกุล ทรงพระราชทานให้ประกอบศพพระยามนตรีสุริยวงศ์(ชุ่ม บุนนาค) ท่านแรก ปัจจุบันพระราชทานแก่รัฐมนตรีที่ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง ( ถ้าเป็นราชนิกุลหรือราชินิกุล)
โกศเกราะ
  10. โกศเกราะ  สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๒๒๕ (พ.ศ. ๒๔๐๖)  สำหรับศพเจ้าพระยานิกรบดินทร ด้วยท่านอ้วน  ศพลงลองสามัญไม่ได้  ต้องทำลองสี่เหลี่ยม  จึงโปรดฯให้ทำโกศเกราะขึ้นประกอบ  ที่เรียก "โกศเกราะ" เพราะลายสลักเป็นเกราะรัด
โกศแปดเหลี่ยม
  11. โกศแปดเหลี่ยม  มีอยู่ ๔ โกศด้วยกัน แต่โกศหนึ่งนั้นเก่ามาก  ไม่ทราบตำนานว่าสร้างครั้งไร  สังเกตทำนองลวดลายเห็นเป็นอย่างเดียวกับช่างครั้งรัชกาลที่ ๑  แต่ฝีมือทำนั้นหยาบมาก  ถ้าจะกะเอาว่าสร้างแต่ครั้งกรุงธนบุรีก็เห็นว่าจะเป็นการสมควร  ด้วยเหตุ ข้อ ๑ ยุคนั้นเวลาว่างการทัพศึกมีน้อย  งานพระเมรูต้องรีบทำในเวลาว่างอันเป็นเวลาสั้น  จึงต้องเร่งทำเอาแต่พอให้ใช้ได้ทันงาน  จะให้งดงามถึงที่ไม่ได้  ข้อ ๒ โกศแปดเหลี่ยมนี้  เป็นอย่างเดียวกันกับพระโกศกุดั่น  อันมีตำนานปรากฏว่าสร้างครั้งแรกในรัชกาลที่ ๑  โกศแปดเหลี่ยมต้องมีอยู่ก่อนแล้ว  พระโกศกุดั่นทำเอาอย่างจึงจะเป็นได้  ซึ่งโกศแปดเหลี่ยมจะทำทีหลัง  เอาอย่างพระโกศกุดั่นนั้นเป็นไปไม่ได้  ใช่ประกอบศพที่ต่ำศักดิ์เป็นกรรโชก  เข้าใจว่าโกศแปดเหลี่ยมนี้เก่าแก่กว่าโกศชนิดอื่นหมด  ด้วยทำยอดเป็ยหลังคา คงเป็นแบบแรกที่แปลงมาจามเหมตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า  ยังทีอีก ๓ โกศนั้น  โกศหนึ่งก็ไม่ทราบแน่ว่าสร้างเมื่อไร  แต่สังเกตฝีมือเห็นว่า  คงทำราวรัชกาลที่ ๓ หรือ ที่ ๔  อีกโกศหนึ่งกรมหมื่นปราบปรปักษ์ทำขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ใช้ประกอบศพหม่อมแม้น ในสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเป็นคราวแรก  อีกโกศหนึ่ง กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ ขอพระบรมราชานุญาตทำถวายในรัชกาลนี้  ใช้ประกอบศพเจ้าจอมมารดาสังวาลเป็นครั้งแรก โกศแปดเหลี่ยมจะพระราชทานประกอบโกศหรือประกอบพระเกียรติยศ เกียรติยศข้าราชการที่ได้รับพระราชทาน ตราปฐมจุลจอมเกล้า หรือประถมาภรณ์ช้างเผือก และ เจ้าพระยาชั้นสัญญาบัตร หรือรัฐมนตรีสั่งราชการ ที่ถึงแก่กรรม ในขณะที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่อยู่ เจ้าจอมมารดา และท้าวนางที่มีพระโอรสธิดา ที่ทรงกรม และ ที่ไม่ทรงกรม  ซึ่งประกอบด้วยคุณงามความดี ทั้งในราชการ และส่วนพระองค์ หม่อมห้ามของ พระบรมวงศ์ที่เป็นสะใภ้หลวง พระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง (หิรัญบัฏ)
โกศโถ
  12. โกศโถ  มีอยู่ ๒ โกศ  โกศหนึ่งนั้นเก่ามากลวดลายและฝีมือเหมือนกับโกศแปดเหลี่ยมใบเก่า  เห็นได้ว่าทำรุ่นราวคราวเดียวกัน  ไม่ปรากฏตำนานว่าสร้างเมื่อไร  ได้ยินแต่กล่าวกันว่าเป็นโกศเก่าแก่  ใช้มาแต่รัชกาลที่ ๑ แล้ว  คำกล่าวเช่นนี้ ประกอบกับฝีมือที่ทำรุ่นเดียวกับโกศแปดเหลี่ยมชักให้น่าเชื่อขึ้นอีก  ว่าโกศแปดเหลี่ยมและโกศโถทั้งสองอย่างนี้  สร้างแต่ครั้งกรุงธนบุรี  ทำไมจึงเรียกโกศโถก็เข้าใจไม่ได้ รูปก็ไม่เหมือนโถ  ทรงอย่างโกศแปดเหลี่ยมนั้นเองแต่ถากแปลงเป็นกลม  แก้ยอดเป็นทรงมงกุฎเหมือนชฎาละคร  คงทำที่หลังโกศแปดเหลี่ยม  และเห็นจะใช้เป็นยศสูงกว่าโกศแปดเหลี่ยม  ด้วยยอดทรงมงกุฎพาให้เข้าใจเช่นนั้น  แต่เดี๋ยวนี้ถือว่าต่ำกว่าโกศแปดเหลี่ยม  ใช้สำหรับพระราชทานพระราชาคณะและข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์  ได้รับพระราชทานโกศเป็นชั้นต้น  อีกโกศหนึ่งเป็นของทำเติมขึ้นใหม่  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการเป็นผู้ทำ  โดยรับสั่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์  เมื่อในรัชกาลที่ ๕ ในปัจจุบันใช้สำหรับพระราชทานประกอบโกศหรือเกียรติยศพระราชาคณะชั้นธรรม
   ธรรมเนียมการอัญเชิญพระโกศที่ไม่มีพระศพอยู่ข้างในจริง ๆ เพิ่งเริ่มใช้สำหรับพระราชวงศ์ชั้นสูงเมื่อไม่นานมานี้ อาจจะด้วยกาลเวลาเปลี่ยนไป การบรรจุพระศพในพระบรมโกศ และ พระโกศรวมถึงขั้นตอนกรรมวิธีการสำรอกพระศพ ( ถวายรูด ) อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับสมัยนี้เสียแล้วมา ในขณะที่ก็ยังพยายามที่รักษาธรรมเนียมเก่า ๆ ของโบราณราชประเพณีเอาไว้ด้วย เมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ พระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประทับในหีบพระศพ และ พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทับในหีบพระศพ เช่นเดียวกัน
   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯให้จัดสร้างหีบพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยสร้างหีบพระศพทรงหลุยส์ผสมบุษบกจากแผ่นไม้สักทอง อายุ ๑๐๐ ปีขนาดใหญ่เพียงแผ่นเดียวไม่มีรอยต่อ ไม้ดังกล่าวนำมาจาก จ.เชียงใหม่ และใช้หมึกจีน พ่นสีโอ๊กม่วง ขนาดความกว้าง ๒๖ นิ้ว ความยาว ๒ .๒๙ เมตร น้ำหนักเกือบ ๓๐๐ กิโลกรัม ทั้งนี้ใช้เวลา เตรียมการประมาณ ๓๐ วัน สีที่พ่นเป็นสีโอ๊กม่วงนั้น นอกจากเป็นสีที่มีเข้มแข็ง น่าเชื่อถือ และเหมาะสมกับงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ ให้ทำหีบพระศพให้คล้ายคลึงกับ หีบพระศพของสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี ซึ่งใช้หมึกจีนสีโอ๊กม่วงเช่นกัน
หีบพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
หีบพระศพดังกล่าวประกบด้วยปุ่มมะค่าทองรอบใบ ลวดลาย ของหีบพระศพเป็นลายกุหลาบ แสดงถึงความรัก ส่วนด้านขอบล่างเป็นลายหลุยส์ ส่วนฝาด้านบน เป็นบุษบก ๓ ชั้น ภายในหีบพระศพ ใช้ผ้าไหม สีครีมทองประดับตกแต่งและดิ้นชายรอบ ซึ่งทาง สุริยาหีบศพ เป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมด ใช้ช่างแกะสลัก ๓ คน ช่างประกอบหีบศพอีก ๕ คน รวม ๘ คน ภายใต้การดูแล ของสำนักพระราชวังตลอดการผลิต ๓๐ วัน  โดยสมเด็จพระเทพรัตราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาตรวจงานด้วยพระองค์เอง พร้อมรับสั่งว่า สวยดี
พระโกศไม้จันทน์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระโกศไม้จันทน์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี บรมราชินี

พระโกศไม้จันทน์สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี

   พระเมรุมาศ เป็นพระเมรุขนาดสูงใหญ่ ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า พระยุพราช สำหรับการตายที่ใช้ราชาศัพท์ว่าสวรรคต ภายในพระเมรุมาศมี “พระเมรุทอง” ลักษณะของพระเมรุมาศที่ปรากฏการสร้างมี 2 รูปแบบคือพระเมรุมาศทรงปราสาท ที่สร้างมาแต่โบราณ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร และพระเมรุมาศทรงบุษบก ส่วนพระเมรุ เช่นเดียวกับพระเมรุมาศ แต่มีขนาดเล็กลง และไม่มีพระเมรุทองภายใน ใช้สำหรับราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์ใช้ราชาศัพท์ว่า “ทิวงคต” หรือ “สิ้นพระชนม์”
   การออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระเมรุ ต้องอาศัยการสร้างสรรค์ออกแบบจากผู้รอบรู้เจนจบงานศิลปกรรมของชาติ ช่างที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ทั้งงานออกแบบรูปลักษณ์ ก่อสร้างอาคาร การคิดลวดลายขึ้นประดิษฐ์ตกแต่งทุกส่วนให้เข้ากับอาคาร โดยมีหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงว่าพระเมรุมาศของพระองค์ใด ที่แสดงลักษณะของพระองค์นั้น ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว อาคารที่ถูกรื้อถอนบางส่วนจะถูกรื้อถอนส่วนใหญ่จะนำไปถวายวัด เพื่อเป็นการกุศลแด่ผู้วายชนม์ และในงานพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้า ฯ ให้นำไปสร้างเป็นอาคารโรงเรียน
   พระเมรุมาศ เป็นพระเมรุขนาดสูงใหญ่ ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า พระยุพราช สำหรับการตายที่ใช้ราชาศัพท์ว่าสวรรคต ภายในพระเมรุมาศมี “พระเมรุทอง” ลักษณะของพระเมรุมาศที่ปรากฏการสร้างมี 2 รูปแบบคือพระเมรุมาศทรงปราสาท ที่สร้างมาแต่โบราณ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร และพระเมรุมาศทรงบุษบก ที่เริ่มใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงดำริว่าการพระราชพิธีพระบรมศพอย่างโบราณสิ้นเปลืองแรง พระราชทรัพย์ และได้ใช้รูปแบบของพระเมรุมาศทรงบุษบกต่อมาโดยตลอด
   พระเมรุมาศทรงปราสาท มีรูปแบบมาตั้งแต่สมัยอยุธยาใช้สืบต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ระหว่างรัชกาลที่ 1-4 มีลักษณะเดียวกับปราสาท สร้างเรือนบุษบกบัลลังก์ที่เรียกว่าพระเมรุทอง ซ้อนอยู่ภายใน โดยประดิษฐานพระเบญจาจิตกาธานรองรับพระโกศพระบรมศพ คือ ทำเป็นพระเมรุอย่างใหญ่ มีตัวพระเมรุ 2 ชั้นต่างไปอยู่ภายในพระเมรุชั้นนอกที่ทำเป็นพระเมรุยอดปรางค์หรือยอดรูปดอกข้าวโพด ส่วนใหญ่เป็นไปตามแบบแผนมีต่างกันไปในรายละเอียดเรื่องการออกแบบตามฝีมือช่าง สำหรับพระเมรุมาศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ถือได้ว่า เป็นพระเมรุมาศสุดท้ายที่ทำตามแบบโบราณราชประเพณี
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระเมรุมาศสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4 ( พระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์ )


   พระเมรุมาศทรงบุษบก เป็นของพระมหากษัตริย์เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างบนพื้นราบดัดแปลงอาคารปราสาทเป็นเรือนบุษบกบัลลังก์ หรือคือการขยายมาจากพระเมรุทองในปราสาทให้ใหญ่ขึ้น และตั้งเบญจาจิตกาธานรับพระโกศพระบรมศพ สะดวกกับการถวายพระเพลิง พระเมรุมาศทรงบุษบกองค์แรกใช้ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังถือเป็นแบบพระเมรุมาศเฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


   ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ลักษณะของพระเมรุมาศเป็นเพียงพระเมรุชั้นเดียว ไม่มีพระเมรุใหญ่ครอบเหมือนแต่เดิม เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก และได้ติดต่อกับต่างประเทศ รับวัฒนธรรมจากภายนอก ทั้งชาวไทยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างให้สอดคล้องตามสมัย การสร้างพระเมรุมาศทรงปราสาท ซึ่งเป็นงานใหญ่โต ทรงเห็นว่าการสร้างแบบเดิมเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงให้มีขนาดเล็กลงและประหยัดขึ้น โดยทรงมีพระราชดำรัสสั่งห้ามความว่า ดังนี้
   " แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ซึ่งคนไม่เคยเห็น แล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าใหญ่โตเพียงใด เปลืองทั้งแรงคน เปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูไม่สมควรกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยืนยาวไปได้เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน ถ้าเป็นการศพของผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์อันควรจะได้เป็นเกียรติยศ ฉันก็ไม่อาจจะลดทอนด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจว่า เพราะฉะนั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศซึ่งสมควรจะได้ เมื่อถึงตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นข้อคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอควร ในท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป....."
   อีกทั้งยกเลิกประเพณี ที่ราษฎรทั่วราชอาณาจักรจะต้องโกนหัวไว้ทุกข์ อันเป็นการไม่เหมาะสมต่อยุคสมัยอีกต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกเสีย เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 6 จึงได้สนองพระราชประสงค์ทุกประการและได้ยึดถือกันเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมาถึงปัจจุบัน

   ในบางกรณีที่เจ้านาย พระราชวงศ์ชั้นสูงและผู้ใหญ่ สิ้นพระชนม์ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน บางพระองค์มีพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์เท่าเทียมกัน อีกทั้งการสร้างพระเมรุมาศ หรือพระเมรุแต่ละครั้งมีขั้นตอน การตระเตรียมยุ่งยากหลายประการ จึงมีการอนุโลมโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการถวายพระเพลิงบนพระเมรุเดียวกันบ้าง หรือให้สร้างพระเมรุน้อยอยู่ใกล้พระเมรุใหญ่ หรือมีเมรุบริวารอยู่ในปริมณฑล ในงานงานพระราชพิธีเดียวกัน อาจเรียกงานออกเมรุนี้ว่า เมรุตามเสด็จ
พระเมรุ 5 ยอด สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย และสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ " เมรุตามเสด็จ "

พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
   ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงเปลี่ยนการเวียนรอบพระเมรุ เป็นรถปืนใหญ่แทน ด้วยเป็นไปตามพระราชประสงค์ที่พระองค์โปรดการเป็นทหารสำหรับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคตในต่างประเทศ จึงมิได้มีการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณี แต่เป็นงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
   ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคต จึงได้จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพตามแบบโบราณราชประเพณี มีการนำราชรถและพระราชยานที่ส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดมาปฏิสังขรณ์ หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว โปรดให้ใช้พระเมรุนี้ในงานถวายพระเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์อีก 4 พระองค์คือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับพระอิสสริยศของแต่ละพระองค์
พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
   เมื่อปี พ.ศ. 2528 เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคต จึงได้มีการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพขึ้น โดยพระเมรุมาศออกแบบโดยอาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี เป็นทรงปราสาทแบบจัตุรมุข ยอดทรงมณฑปประกอบด้วยพระพรหมพักตร์ ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร ตัวอาคารประกอบด้วยชั้นฐานทักษิณ ส่วนหลังคาองค์พระเมรุมาศประกอบมุขทิศ การออกแบบโดยรวมคำนึงถึงพระราชบุคลิกในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งมีลักษณะ สง่า นิ่มนวล จับตาจับใจ
พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
   ครั้นล่วงมาในปี พ.ศ. 2539 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต พระเมรุมาศได้จัดสร้างโดยกรมศิลปากร ณ ท้องสนามหลวง พระเมรุทรงปราสาทจัตรุมุขย่อมุมไม้สิบสองยอดเกี้ยว ยอดสุดปักสัปตปฎลเศวตฉัตร หลังคามุขซ้อน 3 ชั้น ช่อฟ้าใบระกาเป็นลายซ้อนไม้ ในการก่อสร้างครั้งนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระวินิจฉัยให้ใช้วัสดุเรซินในการตกแต่งพระเมรุบางส่วนเพื่อความรวดเร็วและลดปริมาณไม้ งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างพระเมรุ นั้นประมาณ 120 ล้านบาท
พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
   เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชมน์ในปี พ.ศ. 2551 มีน.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรเป็นคณะประธานคณะทำงานการออกแบบพระเมรุ การออกแบบได้ยึดเค้าโครงพระเมรุมาศของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ 5 มาเป็นต้นแบบ[23] โดยออกแบบรูปแบบยอดทรงปราสาท ยอดชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ต่อยอดด้วยชั้นบัวคลุ่มจนถึงปลายยอดประดับฉัตร 7 ชั้น มีตราตราพระราชลัญจกร กว. ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่หน้าบันทั้ง 4 ด้าน โดยยึดแนวความคิดจำลองรูปเขาพระสุเมรุและสะท้อนพระอุปนิสัยและพระจริยวัตรที่นุ่มนวลสง่างามของพระองค์ไว้ในองค์ประกอบพระเมรุ ทางด้านวิศวกรรมนำแนวคิดการออกแบบลิฟต์เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประกอบพระราชพิธีบนพระเมรุ อันเนื่องจากความชันบันไดไปยังพระเมรุ ถือเป็นครั้งแรกที่ติดตั้งระบบลิฟต์ งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างประมาณ 150-200 ล้านบาท
พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
หอพระธาตุมณเฑียร
   หอพระธาตุมณเฑียร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมชนก คู่กับหอพระสุลาลัยพิมานทางทิศตะวันออก และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระมหากษัติยาธิราชเจ้า สมเด็จพระอัครมเหสี และพระอัฐิพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงบางพระองค์ ภายในหอพระธาตุมณเฑียรประดิษฐานพระบรมอัฐิ
สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 1
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชิ ในรัชกาลที่ 2
สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 3

    พระวิมานทอง หรือ หอพระบรมอัฐิ  เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทขึ้น  โดยพระที่นั่งองค์นี้เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานองค์พระที่นั่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป สมัยสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิตอเรียก หลังคาเป็นยอดปราสาทในแบบสถาปัตยกรรมไทย 3 ยอดเรียงกัน และทรงจัดให้มีหอพระบรมอัฐิตามคติไทยโบราณ โดยชั้นบนภายใต้ยอดปราสาทองค์กลางทรงจัดให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี และชั้นบนภายใต้ยอดปราสาททางด้านตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิพระประยูรญาติที่ทรงสูงศักดิ์ และมีความใกล้ชิดกับองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว และโปรดให้อัญเชิญ พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 กับพระบรมอัฐิสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตรย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 4 จากหอพระธาตุมณเฑียร มาประดิษฐานในพระที่นั่งดังกล่าวเป็นต้นมา
บนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์กลาง ประดิษฐานพระบรมอัฐิ
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
- พระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
- สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4
- สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 , 7
- สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในรัชกาลที่ 5
- สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗
บนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันตก เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ
- สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
- สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
- สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลม่อม มหัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
- สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระอัครราชเทวี
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
-สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
-รวมทั้งพระราชวงศ์บางพระองค์ที่โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐาน

หอพระนาก
    หอพระนาก เป็นอีกสถานที่หนึ่งในการเก็บรักษาพระอัฐิของเจ้านายในราชวงศ์จักรี ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระอุโบสถตรงมุมระเบียบ ทางด้านตะวันตก ซึ่งใช้เป็นสถานที่เก็บพระอัฐิของเจ้านายในราชวงศ์จักรี นั้น ซึ่งในสมัยก่อนเป็นที่ประดิษฐานพระนาก ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยา ก็เลยเรียกกันว่า “หอพระนาก”  มาจนถึงปัจจุบัน พระอัฐิที่จะอัญเชิญเข้าไปเก็บไว้ในพระบรมมหาราชวังก็เฉพาะแต่เจ้านายฝ่ายใน ( หญิง ) แต่ถ้าหากเป็นเจ้านายฝ่ายหน้า ( ชาย ) เมื่อโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังให้เสด็จออกวังไปแล้ว เมื่อทรงสิ้นพระชนม์ลงและได้รับพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ก็จะเก็บพระอัฐิอัญเชิญไว้ ณ วังของพระองค์นั้น ๆ ไป หรือบางครั้งเมื่ออัญเชิญพระอัฐิของเจ้านายจากวังต่าง ๆ มาเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลแล้ว ทายาทหรือพระประยูรญาติก็ไม่ขอรับกลับ โดยขอถวายไว้ภายในพระบารมีพระมหกษัตริย์ พระอัฐิในหอพระนากจึงมีมาก พระทายาทบางพระองค์น้อมถวายแต่พระอัฐิ เพียงแต่ขอรับพระราชทานโกศไว้ไม่ถวายพร้อมพระอัฐิก็มี เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศพระราชทานก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานไปเชิญพระโกศทรงพระอัฐิตามวังเจ้านายต่าง ๆ เข้ามาบำเพ็ญพระราชกุศลที่หอพระนากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระสงฆ์สดัปกรณ์ ผ้าคู่อุทิศส่วนกุศลพระราชทานทำนองเดียวกับที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบรมราชบุพการีและเจ้านายชั้นสูงในพระราชมณเฑียร ในปัจจุบัน มีพระโกศพระอัฐิ ที่ประดิษฐานอยู่ ณ หอพระนาก 241 พระโกศ  
บนพระวิมาน จำนวน 4 พระโกศ
1.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
2.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์
3.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ
4.พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระเบญจาชั้นที่ 1 จำนวน 15 พระโกศ
1.กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (เจ้าฟ้าทองอิน)
2.กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ (พระองค์เจ้าชายยอดยิ่งยศ)
3.พระชนก ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
4.พระชนนี ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
5.กรมหลวงนรินทรเทวี (พระองค์เจ้าหญิงกุ ต้นราชสกุล นรินทรกุล)
6.เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฏา (ต้นราชสกุลเจษฏางกูร)
7.เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆนารี  (พระราชธิดาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์)
8.กรมขุนรามินทรสุดา (พระธิดาในพระเจ้ารามณรงค์)
9.เจ้าฟ้ากรมกรมหลวงเทพหริรักษ์ (เจ้าฟ้าต้น ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ต้นราชสกุลเทพหัสดิน)
10.เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (เจ้าฟ้าชายจุ้ย ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ต้นราชสกุล มนตรีกุล)
11.เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (เจ้าฟ้าชายเกศ ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ต้นราชสกุล อิศรางกูร)
12.เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 1 พระมารดาเป็นนัดดาเจ้านครเวียงจันทร์)
13.เจ้าฟ้าอาภรณ์ (พระราชโอรสรัชกาลที่ 2 และเจ้าฟ้ากุลฑล ต้นราชสกุล อาภรณกุล)
14.สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ (พระราชโอรสรัชกาลที่ 2 และเจ้าฟ้ากุลฑล ต้นราชสกุล มาลากุล)
15.เจ้าฟ้าชายปิ๋ว (พระราชโอรสรัชกาลที่ 2 และเจ้าฟ้ากุลฑล )
พระเบญจาชั้นที่ 2 จำนวน 23 พระโกศ พระราชโอรส-ธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
1.กรมหมื่นอินทรพิพิธ (พระองค์เจ้าชายทับทิม ต้นราชสกุล อินทรางกูร)
2.พระองค์เจ้าหญิงเกสร
3.พระองค์เจ้าหญิงดวงสุดา
4.กรมหมื่นณรงคหิริรักษ์ (พระองค์เจ้าชายดวงจักร ต้นราชสกุล ดวงจักร)
5.พระองค์เจ้าหญิงสุด
6.กรมหมื่นศรีสุเทพ (พระองค์เจ้าชายดารากร ต้นราชสกุล ดารากร)
7.พระองค์เจ้าหญิงนุ่ม
8.กรมหลวงเทพพลภักดิ์ (พระองค์เจ้าชายอภัยทัต)
9.สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าชายวาสุกรี)
10.สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร  (พระองค์เจ้าชายมั่ง พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ต้นราชสกุล เดชาติวงศ์)
11.สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าชายฤกษ์ พระราชโอรส   สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์)
12.กรมพระรามอิศเรศ (พระองค์เจ้าชายสุริยา ต้นราชสกุล สุริยกุล)
13.พระองค์เจ้าหญิงมณี
14.พระองค์เจ้าหญิงอุบล
15.กรมหมื่นนเรนทร์บริรักษ์ (พระองค์เจ้าชายเจ่ง พระโอรสกรมหลวงนรินทรเทวี)
16.กรมหมื่นไกรสรวิชิต (พระองค์เจ้าชายสุทัศน์ ต้นราชสกุล สุทัศน์)
17.พระองค์เจ้าหญิงมณฑา
18.พระองค์เจ้าหญิงธิดา
19.กรมหมื่นนรินทรเทพ (พระองค์เจ้าชายฉิม พระโอรสกรมหลวงนรินทรเทวี)
20.กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ (พระองค์เจ้าชายฉัตร์ ต้นราชสกุล ฉัตรกุล)
21.พระองค์เจ้าหญิงพลับ (พระราชธิดาลำดับที่ 15 ในรัชกาลที่ 1)
22.กรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิสุขวัฒนวิไชย (พระองค์เจ้าชายสุริยวงศ์)
23.พระองค์เจ้าหญิงฉิม

สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
   สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่ออุทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชเทวี พระราชเทวี พระอรรคชายาเธอ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม พระราชโอรสธิดา ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงสร้างขึ้นในสมัยหลัง อนุสาวรีย์ที่สุสานหลวงนี้ทำเป็นรูปเจดีย์ ปรางค์ และอาคารศิลปะยุโรป ซึ่งเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระราชดำรัสว่า  " แม่ต้องอยู่กับลูก "
ซึ่งมีอนุสาวรีย์ดังต่อไปนี้
สุนันทานุสาวรีย์
   สุนันทานุสาวรีย์ เป็นอาคารยอดสถูปขนาดใหญ่บุด้วยโมเสคสีทอง สำหรับบรรจุพระสรีรางคาร
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ( 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 )  และ    สมเด็จ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ ( 12 สิงหาคม พ.ศ. 2421 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 )

อนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา
    อนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา เป็นอาคารจตุรมุขยอดสถูป เชื่อมกันด้วยมุขกระสัน ตรงกลางเป็นสถูปขนาดใหญ่บุด้วยโมเสคสีทอง ส่วนสถูปปอีก 3 องค์มีขนาดย่อมกว่าทาด้วยสีขาว ภายบรรจุพระอัฐิหรือพระสรีรางคารของพระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และราชสกุลมหิดล ได้แก่
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ( 10 กันยายน พ.ศ. 2405 - 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 )
สมเด็จเจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี (21 เมษายน พ.ศ. 2424 - 15 สิงหาคม พ.ศ. 2424)
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง ( 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 - 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 )
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (27 มิถุนายน พ.ศ. 2421 - 4 มกราคม พ.ศ. 2437)
สมเด็จเจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี (19 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2441)
สมเด็จเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ (9 มิถุนายน พ.ศ. 2425 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2442)
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (1 มกราคม พ.ศ. 2434 - 24 กันยายน พ.ศ. 2472) (ต้นราชสกุลมหิดล)
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538)
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 - 2 มกราคม พ.ศ. 2551)
สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร (16 เมษายน พ.ศ. 2427 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481)

   เสาวภาประดิษฐาน มีลักษณะเหมือนกับอนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา เป็นอาคารจตุรมุขยอดสถูป เชื่อมกันด้วยมุขกระสัน ตรงกลางเป็นสถูปขนาดใหญ่บุด้วยโมเสคสีทอง ส่วนสถูปปอีก 3 องค์มีขนาดย่อมกว่าทาด้วยสีขาว ภายในบรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง รวมทั้ง สมาชิกบางพระองค์ใน ราชสกุลจักรพงษ์ และ ราชสกุลจุฑาธุช
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ( 1 มกราคม พ.ศ. 2406 -  20 ตุลาคม พ.ศ. 2462 )   
สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ ( 19 ธันวาคม พ.ศ. 2421 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2430 )  
สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง ( 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2424 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2429 )
สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์  ( 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 )  
สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (13 ธันวาคม พ.ศ. 2430 - สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ)
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ( 3 มีนาคม พ.ศ. 2425 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 )
สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ( 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 )
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ( 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2432 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 )

   สุขุมาลย์นฤมิตร บรรจุพระสรีรางคารของพระราชโอรสและพระราธิดาในสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และ สมาชิกในราชสกุลบริพัตร
เจ้าคุณจอมมารดาสำลี  ( พ.ศ. 2378 - พ.ศ. 2443 )
สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ( 21 สิงหาคม พ.ศ. 2404 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 )
สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ ฯ  กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์  ( 14 กันยายน พ.ศ. 2420 - 2 มกราคม พ.ศ. 2465 )  
สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ( 29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 - 18 มกราคม พ.ศ. 2487 )  

พระปรางค์ 3 ยอดแบบลพบุรี บรรจุพระสรีรางคาร พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และพระประยูรญาติ (ราชสกุลยุคล)

อนุสาวรีย์พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระราชชายา เจ้าดารารัศมี และ สมเด็จเจ้าวิมลนาคนพีสี พระราชธิดา

อนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดาแส เจ้าจอมมารดาแส โรจนดิศ ในรัชกาลที่ 5 พร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดา

พระวิหารน้อย บรรจุพระสรีรางคารเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ บุนนาค) ในรัชกาลที่ 5 และพระราชธิดา พร้อมทั้งเจ้าจอมมารดาโหมด บุนนาคในรัชกาลที่ 5 พระราชโอรสและพระราชธิดา เช่น กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ราชสกุลอาภากร และ ราชสกุลสุริยง)

อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรองค์อรรคยุพา ในเจ้าจอมมารดาโหมด บุนนาค

เหมอนุสรณ์ เจ้าจอมมารดาเหม อมาตยกุล ในรัชกาลที่ 5 และพระราชธิดา

อนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์ย้อย อิศรางกูร ในรัชกาลที่ 5 และพระราชธิดา

อนุสาวรีย์พระราชธิดา ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์จิ๋ว กปิตถา

อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์ พระราชโอรสประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เกสร สนิทวงศ์

เอี่ยมอนุสรณ์ 2495 เจ้าจอมเอี่ยม บุนนาค

อนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดาตลับ เกตุทัต เจ้าจอมมารดาตลับ เกตุทัต รวมทั้ง พระราชโอรสและพระราชธิดา เช่น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (ราชสกุลรพีพัฒน์)

อนุสาวรีย์เจ้าจอมแส บุนนาค

เอิบอนุสรณ์ 2487

สรีรนิธาน เจ้าจอมมารดาพร้อม ธิดาเจ้าพระยาพิษณุโลกาธิบดี (บัว) พร้อมทั้ง พระราชโอรสและพระราชธิดา

อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลวาดวรองค์ พระราชธิดาประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเลื่อน นิยะวานนท์

อนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข พึ่งบุญ เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข พึ่งบุญ และพระราชธิดา

อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโกมลเสาวมาล ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาวง เนตรายล

อนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดาจันทร พร้อมทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดา

อนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ พร้อมทั้งพระราชโอรส พระราชธิดา (ราชสกุลรังสิต)

อรอนุสรณ์ 2476 เจ้าจอมมารดาอ่อน บุนนาค และพระราชธิดา

อนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดาแช่ม กัลยาณมิตร พร้อมทั้งพระราชโอรส (ราชสกุลประวิตร)

ฉัตรชยานุสรณ์ 2480 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน พระชายา พระโอรส และพระธิดา (ราชสกุลฉัตรชัย)

อนุสาวรีย์เจ้าจอมอาบ เจ้าจอมอาบ บุนนาคในรัชกาลที่ 5

อนุสาวรีย์เจ้าจอมสุด สุกุมลจันทร์ ในรัชกาลที่ 5

อนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดาแสง กัลยาณมิตร พร้อมทั้งพระราชธิดา

อนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดาเรือน สุนทรศารทูล พร้อมทั้งพระราชธิดา

อนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดามรกฎ เพ็ญกุล พร้อมทั้ง พระราชโอรสและพระราชธิดา (ราชสกุลเพ็ญพัฒน์)

อนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดาชุ่ม ไกรฤกษ์ พร้อมทั้งพระราชธิดา

อนุสาวรีราชสกุลกิติยากร เจ้าจอมมารดาอ่วม พิศลยบุตรและพระราชโอรส (ราชสกุลกิติยากร)
ชีวิตมีขึ้นลง      อีกหน่อยปลงดับสังขาร ความสุขในวันวาน    อีกไม่นานก็จางไป วันก่อนเคยสนุก      วันนี้ทุกข์กลับพลักไส เพื่อนฝูงเคยอำไพ    บัดนี้ไร้แม้คนมอง

ประธานนักศึกษา

โพสต์
447
พลังน้ำใจ
5269
Zenny
1729
ออนไลน์
621 ชั่วโมง
ขอบคุณครับได้ความรู้มากครับ

แสดงความคิดเห็น

ยินดีครับผม มากๆด้วย อิอิ น่ารักด้วยอ่ะคนตอบ อิอิ (อุ้ยเผลอตัว) อิอิ  โพสต์ 2013-11-4 21:53
ดูบันทึกคะแนน
   moo2010 พลังน้ำใจ +16 Zenny +300 ชอบคนโพส

นายกองค์การนักศึกษา

โพสต์
2948
พลังน้ำใจ
19357
Zenny
5714
ออนไลน์
1421 ชั่วโมง
ขอบคุณมากๆครับ

แสดงความคิดเห็น

ยินดีมากๆครับผมๆ อิอิ  โพสต์ 2013-11-5 09:17
ดูบันทึกคะแนน
   moo2010 พลังน้ำใจ +16 Zenny +300 ชอบคนโพส

นายกองค์การนักศึกษา

โพสต์
1099
พลังน้ำใจ
25467
Zenny
17339
ออนไลน์
9134 ชั่วโมง
ขอบคุณมากๆ  ครับ

แสดงความคิดเห็น

ขอบคุณคราฟฟ  โพสต์ 2014-10-29 20:17
ดูบันทึกคะแนน
   moo2010 พลังน้ำใจ +16 Zenny +300 ขอบคุณครับ

นายกองค์การนักศึกษา

โพสต์
1183
พลังน้ำใจ
25259
Zenny
15580
ออนไลน์
4991 ชั่วโมง
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย plus4 เมื่อ 2014-11-5 01:40

ความรู้แน่นมากครับผม


ปล. ผมต้องขอบคุณนายมากกว่าที่เสียสละเวลา มาแบ่งปันความรู้ที่บางอย่างผมไม่เคยรู้ ไว้จะติดตามเรื่อยๆนะครับ

แสดงความคิดเห็น

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะครับผม อิอิ  โพสต์ 2014-11-4 18:20
ดูบันทึกคะแนน
   moo2010 พลังน้ำใจ +16 Zenny +300 ขอบคุณครับ

เจ้าพ่อมหาลัย

โพสต์
14566
พลังน้ำใจ
108970
Zenny
308867
ออนไลน์
12578 ชั่วโมง
ได้ความรู้มากครับขอบคุณจริงๆ

แสดงความคิดเห็น

ยินดีครับผม มีอีกหลายกระทู้ช่วยดูให้หน่อยนะครับ  โพสต์ 2015-2-1 15:40
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | สมัครเข้าเรียน

รายละเอียดเครดิต

A Touch of Friendship: สังคมจะน่าอยู่ เมื่อมีผู้ให้แบ่งปัน ฝากไวเป็นข้อคิดด้วยนะคะชาวจีโฟกายทุกท่าน
!!!!!โปรดหยุด!!!!! : พฤติกรรมการโพสมั่วๆ / โพสแต่อีโมโดยไม่มีข้อความประกอบการโพส / โพสลากอักษรยาว เช่น ครับบบบบบบบบ, ชอบบบบบบบบ, thxxxxxxxx, และอื่นๆที่ดูแล้วน่ารำคาญสายตา เพราะถ้าท่านไม่หยุดทีมงานจะหยุดท่านเอง
ขอความร่วมมือสมาชิกทุกท่านโปรดโพสตอบอย่างอื่นนอกเหนือจากคำว่า ขอบคุณ, thanks, thank you, หรืออื่นๆที่สื่อความหมายว่าขอบคุณเพียงอย่างเดียวด้วยนะคะ เพื่อสื่อถึงความจริงใจในการโพสตอบกระทู้ และไม่ดูเป็นโพสขยะ
กระทู้ไหนที่ไม่ใช่กระทู้ในลักษณะที่ต้องโพสตอบโดยใช้คำว่าขอบคุณ เช่นกระทู้โพล, กระทู้ถามความเห็น, หรืออื่นๆที่ทีมงานอ่านแล้วเข้าข่ายว่า โพสขอบคุณไร้สาระ ทีมงานขอดำเนินการตัดคะแนน และ/หรือให้ใบเตือนสมาชิกที่โพสขอบคุณทันทีที่เจอนะคะ

รูปแบบข้อความล้วน|โทรศัพท์มือถือ|ติดต่อลงโฆษณา|จีโฟกายดอทคอม


ข้อความที่ท่านได้อ่านในเว็บจีโฟกายดอทคอมนี้ เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ หากท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศิลธรรม ไม่เหมาะสมที่จะเผยแพร่ ท่านสามารถแจ้งลบข้อความได้ที่ Link “แจ้งลบโพสนี้” ที่มีอยู่ใต้ข้อความทุกข้อความ หรือ ลืมพาสเวิดล๊อกอิน/ลืมชื่อที่ใช้สมัคร หรือข้อสงสัยใดๆแจ้งมาที่ G4GuysTeam[at]yahoo.com ขอขอบพระคุณที่ให้ความร่วมมือ

กรณีที่ข้อความ/รูปภาพในกระทู้นี้จัดสร้างโดยผู้ลงข้อมูลเอง ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้ลงข้อมูลโดยตรง หากจะทำการคัดลอก/เผยแพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ลงข้อมูลก่อนนะคะ หรือลงที่มาไว้ด้วยค่ะ

©ขอสงวนสิทธิ์คอนเซ็ปต์,คำอธิบาย,หัวข้อ/หมวดหมู่เว็บ ห้ามลอกเลียนแบบ คิดเอาเองนะคะอย่าเอาแต่ลอก

GMT+7, 2024-5-3 14:48 , Processed in 0.107854 second(s), 26 queries .

Powered by Discuz! X3.1 R20140301, Rev.31

© 2001-2013 Comsenz Inc.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้